Internet of Things


Internet of Things

อินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ รอบตัว (The Internet of Things)
นับจากการมีคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพียงหลักแสน จนมาถึงหลักพันล้านในปัจจุบัน ที่มีทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ โน้ตบุ้ค เน็ตบุ้ค โทรศัพท์มือถือ มีสายและไร้สาย จากการประยุกต์ใช้งาน รับ-ส่ง อีเมล์ พื้นฐานมาจนสู่ World Wide Web และข้อมูลข่าวสารออนไลน์ มัลติมีเดีย จากปลายนิ้วสัมผัสของเราในเพียงไม่ถึงอึดใจ จุดเริ่มของความคิดนี้มาจากการติดบาร์โค้ด (รหัสแท่ง) ที่สินค้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นเทคโนโลยี RFID หรือ การระบุด้วยป้ายชื่อที่อ่านด้วยคลื่นวิทยุ ต่อมา เราก็นำเครื่องอ่าน RFID มาใช้ในการสังเกตการณ์ ว่ามีวัตถุอะไรผ่านมาที่จุดที่เราสนใจหรือไม่ เครื่องอ่านเหล่านี้ก็คือสายลับ หรืออุปกรณ์ตรวจสอบว่า มีวัตถุใดอยู่ใกล้ตัวมัน

การนำสิ่งของต่างๆมาติดป้ายและสามารถอ่านได้ทางระบบที่ต่อกับอินเทอร์เน็ตมีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจการขนส่งสินค้า การควบคุมการผลิตในโรงงาน การขายปลีกในห้าง รวมไปถึงการรักษาความปลอดภัยในสนามบิน หรือการควบคุมการเคลื่อนไหวของสินค้า หรือการป้องกันการลักขโมยสินค้าในห้าง

หลายๆประเทศ เริ่มที่จะมีป้ายทะเบียนรถ หรือป้ายจ่ายค่าทางด่วนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการใช้เครื่องอ่านข้างถนน ตรวจสอบว่ารถที่วิ่งผ่านไปคือรถทะเบียนอะไร หากมีการใช้งานกันอย่างทั่วถึง การติดตามรถหาย คงไม่ต้องวิ่งตามแล้วครับ มันโผล่มาบนแผนที่เองเลยว่าอยู่ที่ไหน ส่งตำรวจไปดักจับข้างหน้าได้เลย

ในปัจจุบัน RFID ถูกนำมาติดกับร่างกายของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข หรือสัตว์ในฟาร์ม เพื่อใช้เป็นป้ายประจำตัวบอกชื่อว่าใครเป็นใคร หากท่านจะนำสุนัขของท่านไปยุโรป ท่านต้องไปให้นายทะเบียนทำป้ายอิเล็กทรอนิกส์ให้เพื่อบ่งบอกว่าใครเป็นเจ้าของ พ่อพันธุ์แม่พันธุ์สัตว์ส่วนใหญ่ ก็ต้องมีการติดป้าย RFID เพื่อบอกว่าใครเป็นใคร

การส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ หลายแห่งเริ่มมีการควบคุม ตอดเครื่องอ่านเพื่อคุ้มครองว่า สิ่งต่างๆเมื่ออยู่ระหว่างการขนส่ง ไม่มีใครเคลื่อนย้าย หรือนำสินค้าปลอมมาสลับสับเปลี่ยน หากมีใครเปิดคอนเทนเนอร์ รวมทั้งเคลื่อนย้ายสินค้าที่อยู่ระหว่างการเดินทาง เครื่องอ่าน RFID ที่ตู้คอนเทนเนอร์จะส่งสัญญาณแจ้งให้เจ้าของทราบทันที

การที่เรานำสิ่งของจำนวนมาก มาติดป้ายอิเล็กทรอนิกส์ และมีเครื่องอ่านอยู่ทุกหัวระแหง เราเรียกว่า “Internet of Things”

หากป้ายชื่ออิเล็กทรอนิกส์มีอุปกรณ์ตรวจวัด (sensor) คอยตรวจจับสภาพแวดล้อมต่างๆ อยู่ด้วย ป้ายชื่อเหล่านั้นก็จะเก่งขึ้นอีก เช่น ในการส่งออกอาหารเยือกแข็ง จำเป็นต้องมีการรับรองว่าในระหว่างการขนส่ง ต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ถูกต้องตลอดเวลา ขณะนี้ในประเทศไทยเราสามารถสร้างป้ายชื่อที่มีระบบบันทึกอุณหภูมิซึ่งพร้อมที่จะรายงานประวัติการเดินทางได้ว่าผ่านหรือไม่ผ่านมาตรฐานที่ควบคุม

ทุกๆท่านที่ใช้ Smart phone ในวันนี้ ก็ถือว่าท่านเข้าสู่โลกของ Internet of things แล้วครับ โทรศัพท์ของท่าน ต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา และหากท่านอนุญาต มันจะส่งตำแหน่งของท่านไม่ว่าจะอยู่ที่ใดในโลก แจกให้กับเพื่อนๆที่ท่านอนุญาตให้ติดตามท่านได้อยู่แล้ว

ด้านระบบจราจรและขนส่ง เช่นรถยนต์ จะมี sensor และระบบสมองกลฝังตัวที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ หรือ ระบบสื่อสารระหว่างยานพาหนะและโครงสร้างพื้นฐานจราจรเพื่อทราบสภาพจราจรล่วงหน้าเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินทางให้หลีกเลี่ยงเส้นทางติดขัดหรือลดการสิ้นเปลือง และช่วยลดปัญหามลพิษเป็นต้น

ด้านการแพทย์สาธารณสุข ก็อาจจะได้เห็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ขนาดเล็กติดตัวผู้ป่วยหรือคนชราเพื่อติดตามเฝ้าระวังอาการและสื่อสารกับแพทย์และระบบข้อมูลสุขภาพได้ตลอดเวลา เหลานี้เป็นต้น 

อย่างไรก็ดี Internet of Things นี้ไม่ได้เป็นเพียงส่วนขยายของ อินเทอร์เน็ต ที่เรารู้จักกันอยู่เท่านั้น แต่จะเกิดเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของตนได้โดยพึ่งพาอยู่กับอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเกิดประโยชน์จะเป็นในรูปแบบพึ่งพากับบริการ หรือธุรกิจใหม่ และจะสามารถครอบคลุมการสื่อสารในหลายรูปแบบ เช่น เครื่องสู่เครื่อง เครื่องสู่คนเป็นต้น

สวทช.พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรร่วมทางกับธุรกิจและอุตสาหกรรมไทย ที่อยากจะไปในอนาคตด้วยกัน โดยใช้ธุรกิจเทคโนโลยี เป็นยานพาหนะที่นำพาเราไปครับ





    IoT